ใบชาสามม้า ซับน้ำตาชาวใต้
ใบชาสามม้า ซับน้ำตาชาวใต้
ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธา ร่วมโครงการพิเศษสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยหนักที่พี่น้องชาวใต้กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
ใบชาสามม้าจึงนำป้านจื่อซา ผลิตปี คศ.1977 ซึ่งเป็นของเก่าที่ทางร้านเก็บไว้ นำออกมาจำหน่าย เพื่อช่วยชาวใต้ในราคาใบละ 6000 บาท จำนวน 10 ใบ และใบชาสามม้าสมทบทุนอีก 40,000 บาท
รวมเป็นเงิน 100,000 บาท บริจาคทั้งหมด โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
------------------------------------
* สรุปจบกิจกรรม
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2017 ใบชาสามม้าได้นำรายได้จากกิจกรรม " ใบชาสามม้า ซับน้ำตาชาวใต้ " ทั้งหมดจำนวน 100,000 บาท (ไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น) ไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่สภากาชาดไทยเป็นที่เรียบร้อย
ใบชาสามม้าขอขอบคุณผู้ใจบุญและผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านที่ได้ร่วมบุญกันในครั้งนี้ น่าปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่า น้ำใจคนไทย ยังมีให้กันเสมอ
ขอให้ทุกท่านร่วมอนุโมทนาบุญที่ได้ทำในครั้งนี้ มีความสุขความเจริญ พบเจอแต่กัลยาณมิตรที่ดี ร่ำรวยเงินทองยิ่งๆขึ้นไปค่ะ
รายละเอียดป้านจื่อซา
ป้านจื่อซายุคโรงงานรัฐบาลหมายเลข 1 รุ่น สติ๊กเกอร์รูปไข่ไก่
ผลิตระหว่างปี 1977 - 1982
ช่วงนี้ถือเป็นช่วงฟื้นฟูหลังมีการ “เปลี่ยนผ่านวัฒนธรรม” ในจีน ทุกๆอย่างเริ่มขยับหลังจากหยุดนิ่งมาสักพักใหญ่ ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถฟื้นฟูความประณีตในการผลิตให้กลับไปมีความสามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานเดิมได้ในเวลาอันสั้น แต่ดินจื่อซาในยุคนี้ ถือเป็นดินที่มีคุณภาพดีมากๆเนื่องจาก เนื้อดินได้ถูกพักผ่านกาลเวลามาเป็นเวลานาน ป้านชาในยุคนี้ ถือเป็นป้านชาที่ผลิตขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะนำเข้าเงินตราต่างประเทศ ป้านส่วนใหญ่จึงถูกส่งออกไปนอกประเทศเป็นหลัก ปัจจุบันจึงเริ่มมีนักสะสมจากประเทศจีน เริ่มออกนอกประเทศมาหาซื้อป้านพวกนี้กลับไปขายให้นักสะสมในประเทศจีนในราคาสูง
ปี ค.ศ. 1997
ทางรัฐบาลได้หยุดดำเนินกิจการของโรงงานจื่อซา แล้ว เปลี่ยนถ่ายไปสู่ภาคเอกชนแทน (ภาครัฐเลิกกิจการ ถือเป็นจุดสิ้นสุดยุคโรงงานอี๋ซิง)
ปี ค.ศ.1998
เหมืองแร่หวงหลงซันหมายเลข 4 ในอี๋ซิง ได้ยุติการเข้าสัมปทานขุดแร่ และต่อมาเหมืองประสบกับเหตุน้ำท่วม ระดับน้ำสูงจนมิดปากเหมือง จากอุทกภัยในครั้งนี้จึงทำให้ดินจื่อซาแท้ ๆ หายากและมีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว สำหรับดินสมัยใหม่ที่ไม่ใช่ดินจื่อซาแท้ๆ จะมีความหลากหลายและปริมาณแร่ธาตุในดินไม่สมบูรณ์เท่า โรงงานผู้ผลิตบางแห่ง จึงมีการใส่ทองแดง โคบอลท์ แมงกานีส เหล็ก และสีสังเคราะห์ เพิ่มเข้าไปในเนื้อดินในปริมาณที่มากเกินมาตรฐาน อ.ย. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่เผาออกมาแล้วนั้น มีสีสวยเทียบเคียงกับดินจื่อซาแท้ๆในยุคเก่า แต่ความสวยงามของเนื้อดินที่ได้มาโดยวิธีนี้ ก็ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้เท่าใดนัก
ปี ค.ศ. 2002
เพราะมีปัญหาเรื่องมลพิษ ทางรัฐบาลจึงได้มีการทำลายเตาเผาของเดิมที่สร้างในปี 1973 ของโรงงานจื่อซาทิ้ง จึงเหลือเพียง " ป้านโรงงาน " ในตำนาน ที่หลายๆท่านอยากมีไว้ในครอบครอง